ดันร่างกฎหมายผังเมืองของกรมโยธาธิการฯ เข้าสภา หลัง ครม. ยิ่งลักษณ์ไฟเขียว เปิดช่องกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นวางผังใช้ประโยชน์ที่ดินพร้อมเซ็นอนุมัติเอง ส่วนกลางคลอดผังอำเภอ 800 แห่งนำร่อง เผยผลดีช่วยอุดรูรั่วพัฒนาไร้กฎระเบียบคุม ผลเสีย ผวาอิทธิพลนายทุน-การเมืองบีบปรับสีผังใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมูลค่า เตรียมทางแก้ดึงเอ็นจีโอ ชาวบ้าน ช่วยเป็นหูเป็นตา
นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา และรัฐบาลจะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. ผังเมือง ปี 2518 ซึ่งล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ เงื่อนของเวลา การปรับเปลี่ยนปรับปรุงผังให้ ทันต่อการพัฒนา เป็นต้น สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเก่า คือเพิ่มจำนวนคณะกรรมการผังเมือง จาก 21 คน เป็น 24 คน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน อุทกภัย ส่งผลให้การอนุญาตก่อสร้างในท้องถิ่นต้องตรวจสอบ สภาพแวดล้อมโดยรวมว่า กระทบต่อชุมชนใกล้เคียงหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการเพิ่ม หลักๆจะเป็น สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายอายุของคณะกรรมการผังเมือง จากเดิม 2 ปีเป็น 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการพิจารณากฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้กำหนดบทเฉพาะกาลว่าหากผังหมดอายุ ช่วงที่คณะกรรมการหมดอายุลง ให้อำนาจคณะกรรมการชุดเดิม พิจารณาจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ดี ยังกำหนดนิยาม คำว่าท้องถิ่นในประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกประเภท เพื่อกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต. ) กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ เทศบาล เขตปกครองพิเศษ อาทิ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา ฯลฯ จะต้องทำหน้าที่จัดวางผังเมืองในพื้นที่เอง เพราะท้องถิ่นจะเข้าใจดีว่าพื้นที่ไหนเหมาะอนุรักษ์เพื่อการเกษตรป้องกันน้ำท่วม แก้มลิง ฟลัดเวย์ หรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ไหนเหมาะ เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ฯลฯ โดยมีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันกฎหมายยังให้อำนาจท้องถิ่น อาทิ นายก อบต. นายกเทศบาล ผู้ว่าฯกทม. นายกเมืองพัทยา ลงนามอนุมัติผังและประกาศใช้เอง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนมายัง ส่วนกลางหรือจังหวัด กรมโยธาฯ กระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะเสียเวลา ขณะเดียวกันเพื่อสร้างบุคลากรให้ท้องถิ่นและประชาชน ร่วมมือกันวางข้อบังคับทางผังเมืองเอง สร้างความเข้มแข็งในชุมชน และงบประมาณที่ท้องถิ่นหารายได้เอง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณจากเงินคงคลังลง เพราะกรมโยธาธิการฯ งบประมาณมีจำกัดที่จะเข้าไปวางผังให้ครบทุกพื้นที่คงยาก ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศยังไม่มีผังเมืองควบคุม ขณะที่การขยายตัวของเมืองมีสูง ทำให้รุกพื้นที่เกษตร กว้านซื้อเลือกสวนไร่นา ที่ลุ่มราคาถูกพัฒนาบ้าน โรงงานทำให้ มีปัญหาตามมา
นายเชตวัน กล่าวต่อไปว่า ในแต่ละท้องถิ่นจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ที่สำคัญต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ในมุมกลับกัน กรมเกรงว่าการกระจายอำนาจให้ อบต.เทศบาล จะเปิดให้ กลุ่มทุนและนักการเมืองในพื้นที่ ใช้อิทธิพล ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินของตนเอง ด้วยการกำหนด หรือปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนั้นสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ทำให้พัฒนามากขึ้นรวมทั้งราคาที่ดินปรับสูงขึ้น ทั้งที่บางแห่งอาจเป็นที่นาหรือที่เกษตรลุ่มต่ำเสี่ยงน้ำท่วม หรืออีกกรณีเป็นไปได้ว่ากลุ่มทุนนักการเมืองท้องถิ่น จะเข้าไปกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านราคาถูก ก่อนที่จะปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น ทางออก ควรให้ประชาชน เอ็นจีโอ อาสาสมัคร รวมกลุ่มกันต่อต้านอิทธิพลเหล่านี้ และเป็นหูเป็นตา เพราะคนที่เสียเปรียบคือชาวบ้าน
นอกจากนี้ได้กำหนดให้ ผังเมืองแต่ละผัง มีอายุบังคับใช้ ยาว 10 ปี และต่ออายุ 2 ครั้งครั้งละ 2 ปี รวม 14 ปี เพื่อป้องกันการหมดอายุ ทำให้เกิดสุญญากาศ สามารถพัฒนาอะไรก็ได้ในพื้นที่ห้ามสร้าง ส่งผลให้เกิดสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ บดบังทัศนียภาพ หรือเสี่ยงไฟไหม้ในซอยคับแคบ ฯลฯ
"ท้องถิ่นใคร คนที่ดูแลท้องถิ่นนั้น ก็วางผัง เช่น จังหวัดหนึ่งมี 50 อบต.ก็ต้องมีผัง 50 ผัง โดยกรมจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง วางผังกรอบใหญ่ไว้ให้ด้วยการทำผังระดับอำเภอ ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จทั้งหมด 800 อำเภอ เพื่อชี้นำให้กับท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ โดยผังอำเภอจะประกาศได้ในปีนี้ ส่วนกรอบผัง 77 จังหวัด ได้ทยอยประกาศแล้วงบประมาณที่ท้องถิ่นใช้วางผังประมาณ 300,000-400,000 บาทต่อผัง ทั่วประเทศ" นายเชตวัน กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,711 5-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา และรัฐบาลจะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. ผังเมือง ปี 2518 ซึ่งล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ เงื่อนของเวลา การปรับเปลี่ยนปรับปรุงผังให้ ทันต่อการพัฒนา เป็นต้น สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเก่า คือเพิ่มจำนวนคณะกรรมการผังเมือง จาก 21 คน เป็น 24 คน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน อุทกภัย ส่งผลให้การอนุญาตก่อสร้างในท้องถิ่นต้องตรวจสอบ สภาพแวดล้อมโดยรวมว่า กระทบต่อชุมชนใกล้เคียงหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการเพิ่ม หลักๆจะเป็น สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายอายุของคณะกรรมการผังเมือง จากเดิม 2 ปีเป็น 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการพิจารณากฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้กำหนดบทเฉพาะกาลว่าหากผังหมดอายุ ช่วงที่คณะกรรมการหมดอายุลง ให้อำนาจคณะกรรมการชุดเดิม พิจารณาจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ดี ยังกำหนดนิยาม คำว่าท้องถิ่นในประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกประเภท เพื่อกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต. ) กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ เทศบาล เขตปกครองพิเศษ อาทิ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา ฯลฯ จะต้องทำหน้าที่จัดวางผังเมืองในพื้นที่เอง เพราะท้องถิ่นจะเข้าใจดีว่าพื้นที่ไหนเหมาะอนุรักษ์เพื่อการเกษตรป้องกันน้ำท่วม แก้มลิง ฟลัดเวย์ หรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ไหนเหมาะ เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ฯลฯ โดยมีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันกฎหมายยังให้อำนาจท้องถิ่น อาทิ นายก อบต. นายกเทศบาล ผู้ว่าฯกทม. นายกเมืองพัทยา ลงนามอนุมัติผังและประกาศใช้เอง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนมายัง ส่วนกลางหรือจังหวัด กรมโยธาฯ กระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจะเสียเวลา ขณะเดียวกันเพื่อสร้างบุคลากรให้ท้องถิ่นและประชาชน ร่วมมือกันวางข้อบังคับทางผังเมืองเอง สร้างความเข้มแข็งในชุมชน และงบประมาณที่ท้องถิ่นหารายได้เอง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณจากเงินคงคลังลง เพราะกรมโยธาธิการฯ งบประมาณมีจำกัดที่จะเข้าไปวางผังให้ครบทุกพื้นที่คงยาก ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศยังไม่มีผังเมืองควบคุม ขณะที่การขยายตัวของเมืองมีสูง ทำให้รุกพื้นที่เกษตร กว้านซื้อเลือกสวนไร่นา ที่ลุ่มราคาถูกพัฒนาบ้าน โรงงานทำให้ มีปัญหาตามมา
นายเชตวัน กล่าวต่อไปว่า ในแต่ละท้องถิ่นจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ที่สำคัญต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ในมุมกลับกัน กรมเกรงว่าการกระจายอำนาจให้ อบต.เทศบาล จะเปิดให้ กลุ่มทุนและนักการเมืองในพื้นที่ ใช้อิทธิพล ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินของตนเอง ด้วยการกำหนด หรือปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนั้นสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ทำให้พัฒนามากขึ้นรวมทั้งราคาที่ดินปรับสูงขึ้น ทั้งที่บางแห่งอาจเป็นที่นาหรือที่เกษตรลุ่มต่ำเสี่ยงน้ำท่วม หรืออีกกรณีเป็นไปได้ว่ากลุ่มทุนนักการเมืองท้องถิ่น จะเข้าไปกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านราคาถูก ก่อนที่จะปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น ทางออก ควรให้ประชาชน เอ็นจีโอ อาสาสมัคร รวมกลุ่มกันต่อต้านอิทธิพลเหล่านี้ และเป็นหูเป็นตา เพราะคนที่เสียเปรียบคือชาวบ้าน
นอกจากนี้ได้กำหนดให้ ผังเมืองแต่ละผัง มีอายุบังคับใช้ ยาว 10 ปี และต่ออายุ 2 ครั้งครั้งละ 2 ปี รวม 14 ปี เพื่อป้องกันการหมดอายุ ทำให้เกิดสุญญากาศ สามารถพัฒนาอะไรก็ได้ในพื้นที่ห้ามสร้าง ส่งผลให้เกิดสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ บดบังทัศนียภาพ หรือเสี่ยงไฟไหม้ในซอยคับแคบ ฯลฯ
"ท้องถิ่นใคร คนที่ดูแลท้องถิ่นนั้น ก็วางผัง เช่น จังหวัดหนึ่งมี 50 อบต.ก็ต้องมีผัง 50 ผัง โดยกรมจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง วางผังกรอบใหญ่ไว้ให้ด้วยการทำผังระดับอำเภอ ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จทั้งหมด 800 อำเภอ เพื่อชี้นำให้กับท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ โดยผังอำเภอจะประกาศได้ในปีนี้ ส่วนกรอบผัง 77 จังหวัด ได้ทยอยประกาศแล้วงบประมาณที่ท้องถิ่นใช้วางผังประมาณ 300,000-400,000 บาทต่อผัง ทั่วประเทศ" นายเชตวัน กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,711 5-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555