จากการสำรวจคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯจำนวน 52 โครงการ 12,657 ยูนิต ซึ่งโอนกรรมสิทธิ์แล้วทั้งหมด พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า มีอัตราการเข้าพักอาศัยจริงเพิ่มสูงขึ้นถึง 82% โดย 2 ใน 3 คือเจ้าของอยู่อาศัยเอง ส่วนที่เหลือคือผู้พักอาศัยที่เป็นผู้เช่า ซึ่งระดับการเข้าพักอาศัยจริงนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ระดับ 77% สะท้อนให้เห็นถึงการที่ซัพพลายถูกจำกัดให้เติบโตน้อยลง แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยในประเภทดังกล่าวของผู้บริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การอยู่อาศัยมีความหนาแน่นขึ้น
"ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า จากที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และนำเสนอในรายงานเรื่องการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดคอนโดมิเนียม ฟองสบู่จริงหรือ ต่อเนื่องจากปีก่อน ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีการเก็บข้อมูลตลาดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว จำนวน 52 โครงการ รวม 12,657 ยูนิต จำนวนนี้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดแล้วและรับบริหารอยู่ หากทำการพิจารณาแยกย่อยไปในส่วนของการเข้าพักอาศัย พบว่าห้องชุดที่โอนกรรมสิทธ์แล้วนี้มีการเข้าพักอาศัยจริงถึง 82% (โดย 2 ใน 3 คือเจ้าของอาศัยอยู่เอง ที่เหลือคือผู้พักอาศัยที่เป็นผู้เช่า) และพบว่าจำนวนห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์แล้วที่เหลืออีก 18% นั้น ยังไม่มีผู้เข้าอาศัย ซึ่งคาดว่าเป็นห้องที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง รอการขายต่อหรือการเช่า
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปพิจารณาตัวเลขที่พลัสฯ สำรวจเมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 พบว่าอัตราของผู้เข้าพักอาศัยอยู่ที่ 77% ส่วนตัวเลข ณ พฤษภาคม 2557 ดังที่กล่าวมีอัตราการเข้าพักอาศัยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82% นั้น มาจากการที่เจ้าของต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงรวมถึงซื้อเพื่อปล่อยเช่าให้กับชาวต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่าแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นโซนที่ใกล้สถานที่ทำงาน เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานต่างๆ และศูนย์ราชการ เป็นโซนที่เจ้าของอยู่อาศัยมากที่สุด ในขณะที่โซนสุขุมวิทชั้นใน (ซ.สุขุมวิท 1-71) เป็นโซนที่มีผู้เช่าอยู่อาศัยมากที่สุด โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้เช่าหลัก เนื่องจากตอบสนองความต้องการได้ตรงตามไลฟ์สไตล์ของครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่อยู่อาศัยในรูปแบบของคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ บนทำเลที่สะดวกสบายต่อการเดินทาง ใกล้สถานีรถไฟฟ้า
ที่กล่าวมาหากพิจารณาในด้านตัวเลขของการเปิดโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ที่ลดลงจากปีก่อนๆ ร่วมกับตัวเลขการเข้าพักอาศัยจริงที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82% ชี้ให้เห็นถึงอัตราการดูดซับของตลาดที่อยู่อาศัยในระดับที่ดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการที่อยู่อาศัยในประเภทคอนโดฯ ในเขตกรุงเทพฯ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และผู้บริโภคคลายกังวลต่อปัจจัยต่างๆ แล้ว ประเมินได้ว่าความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับ ภูมิภักดิ์ กล่าวทำเลที่ได้รับความนิยมโซนพหลโยธินรอบนอกถนนแจ้งวัฒนะโซนสุขุมวิท ซอย 1-71 ที่มา : บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ