อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกายไม่ย้าย ประธานสภาทุบเปรี้ยงยันสร้างที่เดิมริมเจ้าพระยา 119ไร่ เขตดุสิต เผยมีความคืบหน้าไปมาก เชิญ กทม. รฟม. สนข. เดินหน้า สะพาน-รถไฟใต้ดิน จัดระบบโครงข่ายจราจรรับ คุมเข้ม กฎควบคุมอาคาร ห้ามสร้างตึกสูง รัศมี 300 เมตร เกิน 5 ชั้น หรือ 15 เมตร รัศมี 500 เมตร ห้ามเกิน 8 ชั้นหรือ 23 เมตร
นายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าชี้แจงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ว่า โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย จะอยู่ที่เดิมโดยไม่ย้ายไปทำเลอื่นตามที่เคยถกเถียงกัน
นายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าชี้แจงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ว่า โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย จะอยู่ที่เดิมโดยไม่ย้ายไปทำเลอื่นตามที่เคยถกเถียงกัน
อย่างไรก็ดี ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน และปรับรูปแบบโครงข่ายจราจร บริเวณรัฐสภา โดยประธานได้ขอให้ กทม. ปรับรูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายให้ สวยงามขึ้น รวมถึงทางขึ้นลงที่ไม่กระทบกับคนทั่วไปและหน่วยงานราชการย่านดังกล่าว ขณะเดียวกันยังวางแผนก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยลากแนวออกไปรับบริเวณหน้าอาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสภา
นายนิคมกล่าวต่อว่าส่วนอาคารพักอาศัย สำหรับข้าราชการทหารที่ถูกผลกระทบจากการเวนคืน ขณะนี้กองทัพบกยืนยันว่า งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จส่งมอบพื้นที่ภายในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้ ส่วนค่าชดเชยได้จ่ายไปหมดแล้ว วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโรงเรียนโยธินบูรณะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และขอจัดสรรงบประมาณเพิ่ม 600 ล้านบาท จากเดิมได้รับไปกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น ได้ขอให้ปรับวงเงินลดลง ส่วนชุมชน องค์การทอผ้า ซึ่งอยู่บริเวณทางขึ้นลงของสะพานเกียกกาย ปัจจุบันได้จ่ายชดเชยแล้ว และอยู่ระหว่างการประมูลก่อสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้กับชาวชุมชน เร็วๆนี้
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่บริเวณเกียกกาย มีพื้นที่ทั้งหมด 300,000-400,000 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท คาดว่าประมาณปลายปี 2555 ถึงต้นปี 2556 จะเปิดประมูลได้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 1,600 วันนับจากก่อสร้าง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้เวลานาน และเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงระดับชาติ และกำหนดให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ขณะเดียวกันกรมโยธาธิการฯ ยังคุมเข้มประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 5 ชั้นหรือ 15 เมตร รัศมี 300 เมตร วัดจากรั้วของอาคารรัฐสภา และรัศมี 500 เมตร วัดจากระยะ 300 เมตร ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23เมตรหรือเกิน 8 ชั้น เป็นต้น โดยมอบให้กทม.ออกเป็นข้อบัญญัติควบคุมระยะยาวต่อไป
ด้าน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ยืนยันว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้เดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่แยกเกียกกายเหมือนเดิม แต่ให้ระบุในสัญญาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเสียค่าโง่ในอนาคต ส่วนใดที่สามารถก่อสร้างได้ก่อนก็ให้ลงมือทำเลย โดยให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาไปเร่งรัดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งจากเดิมของบเพิ่ม 600 ล้านบาท ตอนนี้ก็ลดลงมาเหลือ 120 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นแค่การดูพื้นที่สำรองเผื่อไว้ก่อนเท่านั้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,729 8-11 เมษายน พ.ศ. 2555